ผู้คนนับล้านได้รับผลกระทบจากการละเมิดข้อมูล (Data Breach) ทุกปี ซึ่งการละเมิดข้อมูลก่อให้เกิดความเสียหายทั้งในเรื่องของความเป็นส่วนตัว ทรัพย์สิน และชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็นองค์กรหรือบุคคลทั่วไปก็สามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจ Data Breach เพื่อเป็นแนวทางในการใช้งานระบบต่าง ๆ และสามารถปกป้องข้อมูลสำคัญไม่ให้รั่วไหล
ก่อนที่จะศึกษาวิธีป้องกันข้อมูลสำคัญ เรามาศึกษาเจาะลึกถึงความหมายและสาเหตุของการเกิด Data Breach เพื่อสร้างความเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นไปพร้อมกัน
“การละเมิดข้อมูล” หรือ Data Breach คือ การเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับ ข้อมูลส่วนตัว หรือข้อมูลที่ละเอียดอ่อนโดยการไม่ได้รับอนุญาต เกิดขึ้นจากการโจรกรรมข้อมูล สร้างความเสียหายแก่บุคคล ทรัพย์สิน และความมั่นคงขององค์กร อาจเกิดขึ้นจากองค์กรที่มีระบบความปลอดภัยต่ำ ไม่มีการอัปเดตฐานข้อมูล จึงส่งผลให้เกิดการเจาะรหัสเข้าฐานข้อมูล และดึงข้อมูลไปขายต่อให้กับผู้ที่ได้ประโยชน์นั่นเอง
อย่างที่ทราบกันดีว่า Data Breach ถือเป็นอาชญากรรมทางไซเบอร์ (Cybercrime) โดยมีเป้าหมายตั้งแต่องค์กรขนาดใหญ่ไปจนถึงบุคคลธรรมดา ซึ่งสิ่งที่ผู้โจรกรรมข้อมูล (Attacker) ต้องการนั่นคือ ข้อมูลส่วนบุคคลที่สามารถระบุตัวตนได้ (Personally Identifiable Information) เช่น หน้าบัตรประจำตัวประชาชน, หมายเลขบัตรเครดิต, ข้อมูลการรักษาพยาบาล, ข้อมูลลูกค้า, ทรัพย์สินทางปัญญาหรืออื่น ๆ โดยมีจุดประสงค์เพื่อปลอมแปลงข้อมูลส่วนตัว, โจรกรรมทางการเงิน หรือนำข้อมูลไปขายต่อในเว็บมืด (Dark Web) ซึ่งรูปแบบการโจมตีทางไซเบอร์ทั้งแบบสุ่มและเจาะจง โดย Data Breach อาจมีสาเหตุดังต่อไปนี้
หากไม่มีการตั้งค่ารหัสผ่าน เพื่อกำหนดสิทธิ์ในการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้งานกับคอมพิวเตอร์โดยตรง ก็อาจจะเป็นช่องว่างให้เกิด Data Breach ได้ เมื่อแฮกเกอร์พบช่องโหว่นี้ ก็จะสามารถแทรกมัลแวร์ (Malware) มายังคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ เพื่อบันทึกการกดแป้นพิมพ์ บันทึกข้อมูลละเอียดอ่อน และส่งกลับไปยังเซิร์ฟเวอร์ที่ควบคุมโดยผู้โจรกรรม
การตั้งรหัสผ่านที่คาดเดาง่าย อาจเป็นรหัสที่ตั้งจากข้อมูลพื้นฐานของผู้ใช้งาน ซึ่งเป็นสิ่งแรก ๆ ที่จะถูกสุ่มเพื่อเข้ารหัส ก็อาจทำให้แฮกเกอร์สามารถคาดเดารหัสผ่านได้ในที่สุด อีกหนึ่งกรณีที่เกิดขึ้นนั่นคือ การจดรหัสผ่านไว้ในคอมพิวเตอร์หรือโน้ตต่าง ๆ เมื่อแฮกเกอร์สามารถเข้าถึงข้อมูลทั้งหมด ก็อาจทำให้เกิดการโจรกรรมข้อมูลได้
ดังนั้นการตั้งรหัสผ่านจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อป้องกัน Data Breach จึงควรตั้งรหัสผ่านที่ซับซ้อน ไม่ซ้ำใคร เพื่อป้องกันการคาดเดา
การโจมตีทางวิศวกรรมสังคม คือ การบิดเบือนทางจิตวิทยาเพื่อหลอกให้เหยื่อส่งมอบข้อมูลที่ละเอียดอ่อนหรือทำสิ่งที่ไม่ปลอดภัย เช่น ผู้โจมตีอาจปลอมตัวเป็นตัวแทนจากธนาคาร และโทรหาเหยื่อทางโทรศัพท์เพื่อพยายามโน้มน้าวให้เหยื่อเปิดเผยข้อมูลบัญชีธนาคารของตน หรืออาจมีการฟิชชิ่ง (Phishing) ที่เป็นการโจมตีเพื่อโจรกรรมข้อมูลทางออนไลน์ เช่น หลอกล่อให้ผู้ใช้งานกรอกข้อมูลส่วนตัวในหน้าเว็บไซต์หรือลิงก์ที่มีความหลอกลวง ก็เป็นหนึ่งในภัยคุกคามจาก Data Breach เช่นกัน
การทำ Data Breach ในวิธีนี้ คือการที่ผู้เข้าถึงข้อมูลอ่อนไหวจงใจโจรกรรมข้อมูลเหล่านั้น ซึ่งมักจะเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ตัวอย่าง ได้แก่ พนักงานเสิร์ฟร้านอาหารที่คัดลอกหมายเลขบัตรเครดิตของลูกค้า ตลอดจนพนักงานระดับสูงของรัฐที่ขายความลับให้กับต่างประเทศ
เกิดจากการดาวน์โหลดโปรแกรมจากเว็บไซต์ที่ขาดความเชื่อถือ อาจมีการแทรกไวรัสหรือมัลแวร์ (Malware) ที่เป็นอันตรายกับคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์เคลื่อนที่ และก่อให้เกิด Data Breach ได้
คอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟนที่สูญหายซึ่งมีข้อมูลที่เป็นความลับ อาจเป็นอันตรายได้หากตกไปอยู่ในมือของผู้ไม่ประสงค์ดี
เนื่องจาก Data Breach มีหลายรูปแบบ จึงไม่มีวิธีแก้ปัญหาเดียวที่จะหยุดการละเมิดข้อมูลได้ จึงมีแนวทางป้องกันหลัก ๆ ที่สามารถทำได้จริง เช่น
ตั้งค่าการเข้าถึงข้อมูล โดยการกำหนดสิทธิ์การเข้าถึงเพื่อป้องกันมิให้ผู้ประสงค์ร้าย สามารถเข้าถึงข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อน และทำการโจมตีทางไซเบอร์ ใช้ระบบฐานข้อมูล (Data Warehouse) ที่มีประสิทธิภาพ และการถ่ายโอนข้อมูลที่มีความปลอดภัย
ตั้งรหัสผ่านที่คาดเดายาก มีความซับซ้อน โดยตั้งรหัสผ่านแต่ละบัญชีให้แตกต่างกัน หากจำรหัสผ่านไม่ได้ อาจมีการบันทึกรหัสผ่านในโน้ตต่าง ๆ ได้เช่นกัน
Data Breach ที่มาในรูปแบบของการฟิ่ชชิง (Phishing) ส่งลิ้งก์ที่เป็นสแปมหรือมีไวรัสเข้าสู่เมลของผู้ใช้ หากคลิกลิ้งก์นั้นอาจทำให้มีมัลแวร์แทรกเข้าสู่คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์เคลื่อนที่ จึงควรหลีกเลี่ยงการเข้าถึง URL ที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ โดยเว็บไซต์ที่มีความปลอดภัยจะขึ้นต้นด้วย “HTTPS://” ใช้ระบบ SSL certificate หรือ “ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์” ที่ป้องกันไม่ให้แฮกเกอร์สามารถถอดรหัสข้อมูลได้ เนื่องจากข้อมูลที่ได้ไปจะอยู่ในรูปแบบที่อ่านไม่ออก
นอกเหนือความปลอดภัยของข้อมูลแล้ว องค์กรยังต้องปกป้องเครือข่ายภายใน ด้วยการใช้เทคโนโลยีความปลอดภัยของเครือข่าย เช่น Firewall ที่ตรวจสอบข้อมูลที่เข้า-ออกระบบเครือข่าย เพื่อป้องกันความปลอดภัย และการป้องกันข้อมูลสูญหายหรือการไหลรั่วของข้อมูล (Data Loss Prevention) ก็สามารถช่วยรักษาเครือข่ายให้ปลอดภัย และป้องกัน Data Breach ได้
พนักงานในองค์กรต้องตระหนักถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์ ช่วยกันรักษาความปลอดภัยในองค์กร เครือข่าย และเซิร์ฟเวอร์ รวมถึงอบรมบุคลากรให้มีให้มีความรู้เรื่องการป้องกัน Data Breach
เพื่อไม่ให้เกิด Data Breach ทีมรักษาความปลอดภัยด้าน IT ควรพัฒนา Framework รักษาความปลอดภัยที่แข็งแกร่ง ติดตามและตรวจสอบโครงสร้างขององค์กรอยู่เสมอ
หลายองค์กรมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและระบบเครือข่าย เช่น การใช้ Firewall ในการตรวจสอบข้อมูลเข้า-ออกระหว่างเครือข่าย, การใช้หลักการ Zero trust เพื่อปกป้องไฟล์ อีเมล และตั้งค่าความปลอดภัยของข้อมูล เป็นต้น
ในปัจจุบันมีการละเมิดข้อมูลเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายตั้งแต่ระดับบุคคล (Personal Data Breach) ไปจนถึงระดับองค์กร หากเกิดข้อมูลรั่วไหล องค์กรไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) หรือปฏิบัติได้ไม่ครบถ้วน อาจเสี่ยงโดนฟ้องและต้องรับผิดทางกฎหมาย ดังนั้นเจ้าของธุรกิจจึงต้องรักษาความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า ไม่เปิดเผยข้อมูลเหล่านั้นโดยไม่ได้รับการยินยอม รู้เท่าทันผู้โจมตี ศึกษาแนวทางป้องกันและวางระบบฐานข้อมูลให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
อ่านสาระน่ารู้เกี่ยวกับกฎหมาย PDPA ได้ที่: องค์กรระวังโดนฟ้อง! เหตุทำข้อมูลรั่วไหล พร้อมทบทวนแนวปฏิบัติตาม PDPA
อยากจัดการระบบฐานข้อมูลให้เป็นระเบียบ ปลอดภัย ใช้งานข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนองค์กรได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง? สามารถทำงานร่วมกับ Data Engineer ที่มากด้วยประสบการณ์ พร้อมเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่ช่วยป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์กับ Data Wow ได้วันนี้ที่ sales@datawow.io หรือโทร 02-024-5560