การวิเคราะห์ข้อมูลที่ดีย่อมส่งผลประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ให้กับธุรกิจ จึงมีการใช้ศาสตร์อย่าง Data Science ที่เข้ามาช่วยให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและมีระบบการบริหารข้อมูลที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ Data Science ยังช่วยให้องค์กรมีข้อมูลที่ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และการใช้เทคนิคขั้นสูงเพื่อนำไปวิเคราะห์ ตลอดจนแสดงผลออกมาในรูปแบบของข้อมูลที่แม่นยำ เพื่อใช้ในการตัดสินใจและวางแผนทางธุรกิจได้อย่างดีเยี่ยม
หลายคนเคยได้ยินคำว่า “วิทยาการข้อมูล” หรือ “Data Science” ผ่านหูกันมาแล้ว แต่ยังไม่เข้าใจว่า Data Science คืออะไร? บทความนี้เราจะมาทำความรู้จักวิทยาการข้อมูล กระบวนการ ทักษะที่จำเป็น และตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับ Data Science
Data Science หรือในภาษาไทยแปลว่า “วิทยาการข้อมูล” คือ ศาสตร์ที่เกี่ยวกับวิธีจัดการ จัดเก็บ รวบรวม ตรวจสอบ วิเคราะห์ และนำเสนอข้อมูลที่ออกมาในรูปแบบของข้อมูลเชิงลึก (Insight) เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น เศรษฐศาสตร์ การเงิน โลจิสติกส์ วิศวกรรม การแพทย์ เป็นต้น รวมถึงใช้ประโยชน์ทางธุรกิจในแง่ของการแก้ปัญหา ตอบคำถาม และทำนายสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยผลลัพธ์ที่ได้จากการทำ Data Science จะเรียกว่า Data Products หรือผลิตภัณฑ์ข้อมูล ซึ่งช่วยให้เจ้าของธุรกิจสามารถตัดสินใจ ปรับปรุง พัฒนา หรือวางแผนในการทำธุรกิจได้อีกด้วย
ตำแหน่งงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับ Data Science คือ “Data Scientist” หรือ “นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล” เป็นผู้เชี่ยวชาญที่ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์เพื่อทำความเข้าใจข้อมูล โดยคุณสมบัติหลัก ๆ ของผู้ที่ทำงานด้าน Data Science จะต้องเป็นคนที่มีความหลงใหลในข้อมูล ชอบสืบค้น วิเคราะห์ และประมวลผล สามารถใช้ชีวิตกับตัวเลขและข้อมูลจำนวนมากได้
ซึ่งทักษะที่จำเป็นสำหรับการเป็น Data Scientist ได้แก่ ทักษะทางวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Sciene), ทักษะทางคณิตศาสตร์และสถิติ (Math&Statistics), ความรู้เฉพาะทาง (Domain Expertise) และทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ (Effective Communication) เป็นต้น
หน้าที่ของ Data Scientist เกี่ยวข้องกับการรวบรวมและนำข้อมูลต่าง ๆ มาวิเคราะห์ (Data Analytics) ด้วยการใช้เทคโนโลยีมาจัดการข้อมูลขนาดใหญ่หรือ Big Data และใช้ระบบ Machine Learning เพื่อนำข้อมูลเชิงลึกหรือข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ มาสร้างแบบจำลอง (Data Modeling) ที่นำไปใช้ประโยชน์ทางธุรกิจได้จริง เช่น วางแคมเปญการตลาด พัฒนาสินค้าหรือบริการ การออกโปรโมชัน เป็นต้น
หัวใจหลักในการทำ Data Science ให้มีประสิทธิภาพ ต้องมีองค์ความรู้อยู่ 3 ประการ ได้แก่
ขอบคุณรูปจาก medium.com
ความรู้ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ ถือเป็นทักษะสำคัญของ Data Science เลยก็ว่าได้ เพราะต้องใช้เทคนิคและเทคโนโลยีในการทำงาน อาทิ การเขียนโปรแกรมด้วยภาษาต่าง ๆ (เช่น JavaScript, Python และ R), การจัดเก็บข้อมูล, การวางฐานข้อมูล, การนำเสนอและแสดงผลข้อมูล เป็นต้น
ความรู้ด้านคณิตศาสตร์และสถิติ เป็นการเลือกใช้แบบจำลองในการวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจข้อมูลและตีความผลลัพธ์ เช่น พีชคณิต (Algebra), การทำเหมืองข้อมูล (Data Mining) และส่วนการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) เป็นต้น โดยสถิติที่รวบรวมมาแล้วจะช่วยในการตัดสินใจทางธุรกิจ เพื่อเข้าสู่การเป็น Data-Driven Organization
การทำกลยุทธ์การตลาดหรือความรู้เฉพาะทาง คือสิ่งที่จะช่วยให้การทำ Data Science มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้ Data Scientist สามารถเข้าใจจุดประสงค์ ขอบเขต และเป้าหมายมากขึ้น นอกจากนี้ความรู้เฉพาะทางยังรวมไปถึงทักษะด้านการสื่อสาร (Effective Communication) ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะการสื่อสารที่ดีจะช่วยเกิดความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน และสามารถตัดสินใจได้อย่างชาญฉลาด
ซึ่งองค์ความรู้ 3 ประการนี้ อาจไม่ได้ครบมีในคนคนเดียวก็ได้ จึงมีทีม Data Science ที่แบ่งความรับผิดชอบตามความถนัดของแต่ละบุคคล เช่น Data Engineer ที่มีความสามารถด้านการเขียนโปรแกรมและมีความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์ ก็จะทำหน้าที่หลักในการรวบรวมข้อมูลให้พร้อมใช้งานนั่นเอง
ลำดับขั้นตอนของการทำ Data Science จะเรียกว่า Data Science Life Cycle โดยมีอยู่ด้วยกัน 5 ข้อ ดังนี้
วงจร Data Science เริ่มต้นด้วยการสร้างข้อมูล หรือเรียกอีกอย่างว่า “การจับข้อมูล” เป็นกระบวนการสำคัญในวงจร Data Science เนื่องจากคุณภาพและความสมบูรณ์ของข้อมูล ส่งผลโดยตรงต่อความแม่นยำและความน่าเชื่อถือของการวิเคราะห์ จึงต้องมีเตรียมข้อมูลเพื่อนำมาใช้งาน โดยระบุที่มาของข้อมูล (Data Sources), รวบรวมข้อมูล (Data Acquisition) และแปลงข้อมูลดิบให้อยู่ในรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับการวิเคราะห์
ในระหว่างกระบวนการรวบรวมข้อมูล ต้องให้ความสำคัญในความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูล โดยเฉพาะเมื่อต้องจัดการกับข้อมูลที่ละเอียดอ่อนหรือข้อมูลส่วนบุคคลที่สามารถระบุตัวตนได้ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลจึงต้องพิจารณาถึงข้อกำหนดธรรมมาภิบาลข้อมูล (Data Governance) และปฏิบัติตามข้อกำหนดเหล่านั้น
ขั้นตอนการบำรุงรักษาข้อมูล เป็นวงจร Data Science ที่ต้องทำต่อจากการจับข้อมูล เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลสูญหายตามกาลเวลา ด้วยการทำระบบคลังข้อมูล (Data Warehousing) ที่รวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ มาจัดเก็บอย่างเหมาะสมและพร้อมใช้งาน, การทำความสะอาดข้อมูล (Data Cleansing) ที่ทำหน้าที่คัดกรองข้อมูลที่ซ้ำซ้อน ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ตลอดจนการทำสถาปัตยกรรมข้อมูล (Data Architecture) ที่กำหนดทิศทางในการจัดการข้อมูล เพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว
เมื่อจับข้อมูลและบำรุงรักษาข้อมูลแล้ว เข้าสู่วงจรที่เป็นกุญแจสำคัญสำหรับ Data Science ก็คือการจัดการกับข้อมูลจำนวนมหาศาลให้อยู่ในรูปแบบที่ต้องการ และวิเคราะห์ว่าข้อมูลนั้นสามารถใช้ประโยชน์จริงหรือไม่ เช่น การทำแบบจำลองข้อมูล (Data Modeling) และการทำเหมืองข้อมูล (Data Mining) เป็นต้น
เนื่องจากเป็นขั้นตอนวิเคราะห์ข้อมูลภายใต้วงจร Data Science ต้องใช้เทคนิคและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย เช่น การวิเคราะห์ปัจจัย เป็นเทคนิคทางสถิติที่ใช้ในการจับกลุ่มข้อมูลที่มีความสัมพันธ์ไว้ด้วยกัน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท นั่นคือ การวิเคราะห์ปัจจัยเชิงสำรวจ (Exploratory Factor Analysis) และการวิเคราะห์ปัจจัยเชิงยืนยัน (Confirmatory Factor Analysis) เป็นต้น
มาถึงขั้นตอนสุดท้ายของวงจร Data Science คือการนำเสนอข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่เข้าใจง่ายหรือการทำ Data Visualization ที่สามารถเลือกใช้แดชบอร์ดและเทมเพลตต่าง ๆ ได้ตามความวัตถุประสงค์ของการแสดงผล
Data Science ถือเป็นศาสตร์ที่สำคัญเป็นอย่างมากสำหรับองค์กร การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นระบบและการนำเสนอที่เห็นภาพชัดเจน จะช่วยให้การตัดสินใจและการวางแผนเพื่อพัฒนาธุรกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ หากองค์กรยังไม่มีการทำ Data Science ที่ถูกต้องตามหลักการ ขาดการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการข้อมูล อาจส่งผลให้ข้อมูลที่ได้มาไม่ครบถ้วน ข้อมูลขาดหาย ส่งผลให้เกิดการตัดสินใจผิดพลาดในท้ายที่สุด
หากธุรกิจของคุณยังขาดการวิเคราะห์ข้อมูลที่แม่นยำ สามารถทำงานร่วมกับทีม Data Scientist จาก Data Wow ที่ผ่านประสบการณ์มากมายในหลายอุตสาหกรรม เราทำความเข้าใจธุรกิจเพื่อศึกษาพฤติกรรมและความต้องการของกลุ่มลูกค้า พร้อมนำเทคโนโลยี Machine Learning และ AI เข้ามาปรับใช้ เพื่อหา Insight ที่ตอบโจทย์กับธุรกิจของคุณ พร้อมนำเสนอแนวทางและให้คำปรึกษากับองค์กรของคุณได้อย่างมืออาชีพ สามารถติดต่อเราที่ sales@datawow.io หรือโทร 02-024-5560
Ref.